วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 5 เที่ยวเดียงปลาโต และ บุโรพุทโธ ครับผม

ก่อนไปทริปวัดพรัมบานันเมื่อวาน เราก็จองทริปไปเที่ยวเดียงปลาโต Dieng Plateau กับ บุโรพุทโธด้วย ราคาทริปก็ไม่แพงมากครับ คนละ 190,000 Rp ประมาณคนละ 700 กว่าบาท ครับแต่ราคานี้ยังไม่รวมค่าเข้าบุโรพุทโธกับค่าเข้าชมเดียงปลาโตนะครับ ไปจ่ายโดยตรงที่โน่นเลย ตอนแรกกะว่าจะนั่งรถโดยสารไปเองและเดียงปลาโตไม่ได้อยู่ในแผนการณ์ที่วางไว้ด้วย แต่เห็นในโบรชัวร์มันมีทริปนี้ด้วยก็เลยจองเพื่อความสะดวกครับ ดีกว่าไปเองประหยัดเวลาด้วย ค่าทัวร์ก็ไม่แพงเลยครับ (อยากจะบอกว่าค่าทัวร์ทริปแต่ละอย่างประเทศไทยของเราแพงกว่าเยอะ จริงๆนะ)

ทริปออกเดินทางตั้งแต่ 7:00 น.ครับ คนขับรถบริษัทเดิมมารับเรียบร้อย แต่เป็นคนละคนกับเมื่อคืน พี่คนนี้คุยอังกฤษเก่งกว่าคนเมื่อคืนเยอะ ถามอะไรตอบได้หมดเหมือนอับดุล

ขับรถออกมาได้ 30 นาทีก็ออกนอกเขตเมืองย็อกยาการ์ตา ผ่านวัดบุโรพุทโธก่อน แต่ก็ไม่แวะเพราะจะต้องไปเดียงปลาโตก่อน แล้วค่อยแวะบุโรพุทโธตอนบ่าย

ผ่านบุโรพุทโธมาแล้วก็เริ่มเข้าเขตชนบท ทางเริ่มขึ้นลงพื้นที่ภูเขาครับผม ผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่หลายแห่งมากๆ ภาพข้างบนเป็นตลาดเช้าของแถวๆหมู่บ้านชื่อ Blondo

ขายของกันเต็มถนน กีดขวางการจราจรมั่วไปหมด เหมือนประเทศอะไรก็ไม่รู้เมื่อก่อน แต่ปัจจุบันเขาพัฒนาแล้ว อิๆๆๆ
ขับมาได้ 2 ชั่วโมงกว่า ก็เข้าเมือง Wonosobo ซึ่งค่อนข้างเป็นเมืองใหญ่ทีเดียว มีจอทีวีจอเบ้อเร่อด้วยตรงทางแยก ไม่ธรรมดานะเนี่ย

4 ชั่วโมงเต็มของการนั่งรถ เราก็มาถึงทางเข้าหมู่บ้านเดียง ซึ่งต้องจ่ายค่าเข้าด้วยครับ เป็นเหมือนด่านเก็บตังค์ค่าเข้าชมครับ จ่ายคนละ 3,000 Rp แล้วก็ต้องขับเข้าไปในหมู่บ้านอีกประมาณ 10 นาทีครับก็จะถึง Dieng Plateau
ค่าเข้าคนละ 20,000 Rp ซึ่งเป็นตั๋วที่รวมค่าเข้าวัด Arjuna แล้วก็บ่อโคลนเดือดครับ

พอเข้าเขตหมู่บ้าน Dieng เท่านั้นแหละครับ น้องฝนเหมือนแกล้งเราเลย ตกหนักมาก ตลอดทางเลย เซ็งเป็ดจริงๆ

เสื้อฝนที่เตรียมมาได้ใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุดครับ สำหรับตากล้องแนะนำให้กางร่มดีกว่าครับ เอาร่มไปด้วยนะใครไปทริปนี้ สะดวกกว่าเสื้อกันฝนนะผมว่า ภาพข้างบนเป็นบริเวณวัดฮินดูชื่อวัด Arjuna ครับผม ไม่มีใครมาถ่ายรูปเหมือนเราเลย พวกฝรั่งยืนหลบฝนอยู่ตามร้านค้าเต็มไปหมด

บริเวณวัดที่จริงไม่ได้มีอาณาเขตกว้างขวางอะไรเลยครับ เป็นเมือนสวนสาธารณะอะไรซักอย่าง แล้วก็มีหมู่เจดีย์ที่ปรักหักพังไม่ได้รับการซ่อมแซมเป็นระยะๆ ครับ และจะมีทางเดินชมรอบๆครับ

เมาะณีของเรากลัวไม่มีรูปครับ เลยถ่ายไว้ให้เป็นที่ระทึกครับ ยามฝนตกไม่ลืมหูลืมตา อิๆๆๆ

เดินออกมาตรงทางออกก็เจออีกอันหนึ่ง ไกด์รอเราอยู่แล้วตรงทางออก แกบอกให้เราเข้าไปดูข้างใน เราบอกว่าไม่ดูดีกว่าเดี๋ยวออกมาไม่ได้ครับ ปากทางเข้าเล็กๆ กลัวติดอยู่ข้างในออกมาไม่ได้ อิๆๆๆ ล้อเล่น เข้าไปได้ครับ แต่ฝนตกไม่สะดวก เลยไม่ดูดีกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรอยู่ข้างในครับ

จากทางออกพี่ไกด์ก็พาเราขับรถออกมาตรงที่เรียกว่า Crater ครับ มีบ่อโคลนเดือน ควันกำมะถันล่อยละล่องมากพื้นพิภพเต็มไปหมด ไม่ต้องบอกว่าเหม็นนะครับ ใครไปเที่ยวเตรียมผ้าปิดจมูกไปด้วยครับ อย่าเหมือนพวกเราเลย สำลักควันกำมะถันกันสนุกเลย

บ่อโคลนเดือดและควันกำมะถันจากพื้นดินครับ

เจ๊คนหนึ่งยืนขายก้อนกำมะถันอยู่ ไม่รู้เอาไปทำอะไร แต่ไม่เห็นมีใครสนใจซื้อของแกเลย เมาะณีเข้าไปถาม เขาบอกว่าเอาไว้ทาหน้า โอ้!!! สารกำมะถันทาหน้าเนี่ยนะ มายก้อด

ป้าอ้อยกลัวไม่มีรูปกะเขาด้วยเลยถ่ายให้ซะหน่อย เดี๋ยวไม่มีใครรู้ว่ามาสำลักควันกำมะถันกันแล้ว

มีป้ายเตือน ด้วยว่าห้ามเข้าใกล้บริเวณบางพื้นที่เพราะดินอาจจะยุบลงไป แล้วโดนอะไรร้อนๆข้างล่างอ่ะ น่ากลัวๆ

บ่อโคลนเดือดพุ่งคลั่กๆ ผสมกำมะถันซึ่งตกตะกอนอยู่รายรอบ

น่ากระโดดลงไปดูจังเลย อิๆๆๆ ลงไปก็คงสุกเอามากินได้เลยเพราะมันเดือดปุดๆขนาดนี้

พี่ไกด์จะพาเราไปดู ทะเลสาบกรดอีกทีหนึ่งแต่เรากลัวเวลาไม่พอ เพราะต้องไปบุโรพุทโธอีกเลยไม่ไปดีกว่า แล้วก็ต้องเสียค่าเข้าอีกคนละ 10,000 Rp อะไรๆก็จ่ายๆๆๆ ทุกอย่าง เลยเซ็ง ออกมาตรงทางที่จะย้อนกลับไปบุโรพุทโธก็เริ่มเห็นวิวทิวทัศน์บ้างแล้วครับ

บรรยากาศหลังฝนตก และหมู่บ้านอยู่เบื้องล่างครับ คนที่เดียงปลาโตจะมีอาชีพเกษตรกรรมครับ ปลูกผักขาย มีสวนผักเต็มไปหมดสุดลูกหูลูกตา

เอ้า แถมอีกรูป ดูภาพเอาเองละกันครับ ไม่รู้จะอธิบายอะไรครับ สุดจะบรรยาย วิวสวย

ระหว่างทางกลับบุโรพุทโธ เราก็แวะซื้อกล้วยนี้ครับ ไกด์บอกว่าชื่อกล้วยผี (pisang hantu) เพราะมีลักษณะเหมือนนิ้วมือผี ที่จริงเราเห็นตั้งแต่ขาไปแล้ว ขากลับเลยให้พี่ไกด์แวะจอดซื้อ หวีละ 20,000 Rp แพงเหมือนกันนะเนี่ย แต่ลูกใหญ่มโหฬารมาก กินแทบจะไม่หมด รสชาติออกเปรี้ยวๆ ไม่หวานอย่างที่คิดไว้เลย กล้วยหอมบ้านเราอร่อยกว่าเยอะ คนขายบอกให้เราเอาไปต้มก่อนกินก็ได้ แต่ที่นี่เขาเอากล้วยมาทำกล้วยทอดครับ ชุบแป้งทอดแบบนุ่มๆ (pisang goreng) เขาให้ชิมอร่อยดี เลยซื้อมากินอีก 5,000 Rp โห ได้ตั้งหลายชิ้นแน่ะ อร่อยๆๆ กินแก้ง่วง (แต่กินเสร็จก็ง่วงอยู่ดี เพราะนั่งรถไกลท่ามกลาสายฝน อิๆๆๆ) ในรูปทำไมหลวงไข่หน้าใหญ่มั่กๆ อ๋อ!!......กำลังเคี้ยวเอื้องกล้วยทอดอยู่ ท่าทางอร่อยเชียว

มาถึงบุโรพุทโธตอนบ่าย 2 กว่าๆ ปรากฏว่าฝนตกอีกครับ แป่ว!! เจอฝนทั้งวันเลยอ่ะ อันนี้เป็นตั๋วค่าเข้าบุโรพุทโธครับ 125,000 Rp ประมาณ 15 Us ดอลล่าร์ครับ

บัตรนักศักษาครับ เหลือแค่ 8 Us ดอลล่าร์ บังเละ ได้เปรียบตลอดเลย ทั้งๆที่หน้าตาไม่ให้ ว่าเป็นนักศึกษา

ยื่นตั๋วเสร็จก็มีห้องให้ทานชากาแฟ น้ำดื่ม หยิบเอาได้เลยในตู้เย็น แต่ฝนตกครับไม่กินน้ำ กินชาดีกว่าจะได้อุ่นๆ อันนี้เป็นแผนผังภายในบริเวณบุโรพุทโธครับผม

เดินเข้าไปข้างในครับ มีรถพาเที่ยวชมรอบๆด้วย ไม่รู้ฟรีหรือเปล่า

ท้องฟ้าไม่เปิดเลยครับ มืดมาก นี่ขนาด บ่าย 3 นะเนี่ย อย่างกะกลางคืนแน่ะ เห็นยอดสถูปใหญ่กลางบุโรพุทโธอยู่เบื้องหน้า ตื่นเต้นครับ ตื่นเต้น เพราะเรากำลังจะเข้าไปชมมรดกโลกอันเป็นโบราณสถานของพระพุทธศาสนาท่ามกลางดินแดนอิสลามครับ

เดินเข้าไป คนเยอะมาก นี่ขนาดวันฝนตกนะเนี่ย คนอินโดเองก็มาเที่ยวเยอะครับ มีแต่ร่มหลากสีสัน

บริเวณระเบียงชั้นล่างครับ

กำลังเดินขึ้นไปชั้นบนสุดครับ ภาพนี้โชคดีมาก ไม่มีคนในรูปเลย ซึ่งหาโอกาสแบบนี้ยากมาก จริงๆ มองไปทางไหนก็มีแต่คนเดินขวักไขว่เต็มไปหมด

ระเบียงบนชั้นก่อนจะถึงชั้นบนครับ

หมู่เจดีย์รายรอบครับ เบื้องหลังมองเห็นภูเขาไฟเมอราปีด้วยครับ (ตอนที่พวกเราไปออกข่าวในทีวีว่าเริ่มปะทุแล้วครับ พอกลับมาเมืองไทยมันก็ระเบิดควันเถ้าถ่านออกมาเต็มเมืองย็อกยาการ์ตาและเมืองใกล้เคียง ขนาดเมืองหลวงจาการ์ตา ก็ยังยกเลิกเที่ยวบินเข้าออกทั้งหมดเลยครับ น่ากลัวจริงภัยธรรมชาติปีเทศนี้ เร็วนี้ก็มีแผ่นดินไหวเกิดสึนามิด้วยที่เกาะ Mentawai แถวสุมาตราตะวันตก)

ตรงนี้ขอวิชาการนิดหนึ่งนะครับ (ลอกเขามาอีกที) บุโรพุทโธ (Borobudur) หรือชาวเกาะชวาเรียกว่า Barabudur ซี่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต โดยคำว่า Bara มาจากคำว่า Biara หมายถึงวิหาร (Vihara) ส่วน Budur หมายถึงภูเขา ก็คือวิหารบนภูเขาสูงครับ ผู้สร้างบุโรพุทโธคือกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทราผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากษัตริย์องค์ใด โดยในช่วงพ.ศ. 1275 ราชวงศ์ไศเลนทราเข้าครอบครองชวาตอนกลางแทนที่ราชวงศ์สัญชัยของฮินดู ราซวงศ์ไศเลนทรานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน โดยได้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาไว้มากมาย แต่บุโรพุทโธ ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 1318 และเสร็จสมบูรณืในสมัยกษัตริย์อินทรา ใน พ.ศ. 1390 รวมเวลาสร้าง 72 ปี ใช้หินประมาณ 2 ล้านก้อน มีลักษณะเป็นปิระมิดขั้นบันไดสี่เหลี่ยมด้านเท่า ยาวด้านละ 118 เมตร สูง 42 เมตร ปัจจุบันเหลือสูงเพียง 35.29 เมตร เพราะดินทรุดตัวและโดนฟ้าผ่าหลายครั้ง มีบันไดขึ้นจากซานทั้งหมด 4 ด้าน แบ่งเป็น 10 ชั้น ชั้นที่ 1-6 สร้างเป็นฐานย่อมุม หกเหลี่ยม พร้อมภาพสลักนูนต่ำเกี่ยวกับพุทธประวัติ ศาสนา และ จักวาร การเข้าสู่พระนิพพาน ชั้นที่ 7-10 สร้างเป็นฐานกลม ล้อมรอบพระถูปประธานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเอาไว้

ดูตามสภาพภูศาสตร์จริงจะพบว่าบุโรพุทโธ ได้รับการสร้างขึ้นบนเนินดินธรรมชาติ สูงกว่า 15 เมตร มองภายนอกคล้ายๆภูเขาขนาดย่อม ผู้ออกแบบจงใจให้มีลักษณะเหมือนดอกบัวมหึมาลอยอยู่กลางบึงใหญ่ ซึ่งนักวิชาการพบว่าบุรพุทโธสร้างขึ้นในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง อันเป็นมาบแห่งแม่น้ำโพรโก (Sungai Progo) ในสมัยโบราณ ยามฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำเอ่อนองอยู่รอบบุโรพุทโธเหมือนกับดอกบัวลอยเด่นอยู่กลางน้ำจริงๆ ข้อมูลทั้งหมดนี้ลอกมานะครับจากหนังสือ โบรโม-อีเจน-เดียงพลาโต-บูโรพุทโธ-ปรามบานัน คู่มอท่องเที่ยวเกาะชวาด้วยตนเองของสำนักพิมพ์วงกลม โดยชาทร สิทธิเคหภาค ครับผม ลอกมาบางส่วนนะครับ โฆษาให้แล้วด้วย อิๆๆๆ ไม่ได้รู้จักกันนะครับ

ภาพนี้กว่าจะถ่ายมาได้ ผมรออยู่นานมากครับ กะว่าจะถ่ายตอนไม่มีคนเดินผานให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ที่จริงอยากถ่ายจากอีกด้านขององค์พระ แต่การจราจรหนาแน่ไปด้วยผู้คนไม่ว่างเว้นเลยครับ เฮ้อ ... เหนื่อยกับการรอคอย
อันนี้ได้อีกรูปแต่ภาพไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ต้องขออภัยครับ กล้องธรรมดาครับ ไม่ได้ฉลาดมาก อิๆๆๆ

องค์พระพุทธรูป ตามระเบียงชั้นตรงกลางๆ จำไม่ได้แล้วครับว่าชั้นที่เท่าไหร่

ป้าอ้อยกลัวคนที่บ้านไม่รู้ว่ามาเที่ยวบุโรพุทโธ เลยถ่ายรูปไหว้พระไว้รูปหนึ่งเป็นที่ระทึกให้ครับ

หลวงไข่ก็ไม่ยอมน้อยหน้าครับ เอากะเค้าด้วย กลัวคนที่บ้านไม่รู้เหมือนกันว่ามาเที่ยวบุโรพุทโธ

พระองค์นี้แหละครับ ที่หลวงไข่กับป้าอ้อยแย่งกันถ่าย ส่วนบังเละกับเมาะณี หมดสิทธิ์ครับเพราะเขานับถืออิสลาม
บังเละกับป้าอ้อย ถ่ายกับภาพแกะสลักหินบนระเบียงครับ

มองจากข้างล่างขึ้นข้างบนครับ น่าเสียดายจัง เศียรพระพังไปหลายองค์มากเลย
ชมบุโรพุทโธจนหนำใจแล้วก็ถึงเวลากลับแล้วครับ รู้สึกอาลัยอาวรณ์อยากจะถ่ายอีก เลยเก็บไว้ป็นที่ระทึกอีกรูป (ยังมิวาย มีคนอยู่ในรูปอีกจนได้ ขนาดจะค่ำแล้วนะเนี่ย)

เดิมตามป้ายที่ชี้ออกมาตรงทางออก ก็เห็นมีซากปรักหักพังอยู่ด้วยครับกองเอาไว้เต็มเลย

เช่นเคยครับ ตรงทางออกจะผ่านร้านค้า แต่พวกเราไม่ได้ซื้ออะไรเลย ยังเสียดายอยู่เลย ของที่นี่ราคาถูกกว่าที่ในเมืองย็อกยาการ์ตาร์อีกนะ เราไม่รู้เพราะคิดว่าที่นี่แพง มีคนมาเสนอเสื้อสกรีนลายบุโรพุทโธ 7 ตัว 100,000 Rp แต่เราไม่ซื้อ บ้าจริง ถ้าไปซื้อในเมืองตัวละ 25,000 Rp ไม่ลดซักร้านเลยครับ เสียดายจริงๆที่ไม่ได้ซื้อ แต่พอออกมาข้างนอกอีกก็จะเจอกับมวลมหาชนพ่อค้าแม่ค้าที่จะเริ่มเข้ามาหาเราอย่างไม่หยุดหย่อน พูดอินโดใส่แบบไม่ยั้ง ฟังไม่รู้เรื่องแต่ไม่อยากซื้อครับ ส่วนเมาะณี โดนรุมครับ ปลีกตัวออกมาไม่ได้ โดนซื้อกระเป๋าเดินทางไปใบหนึ่งแบบผ้าปาเต๊ะ สวยดี แต่เมาะณีบอกว่ามันยากแก่การปฏิเสธค่ะก็เลยซื้อ ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อเลยนะ (บ้าไปแล้ว ไม่ซื้อเขาก็ไม่ได้ว่าซะหน่อย ซื้อทำไมถ้าไม่อยากได้ แต่พอมาถึงเมืองไทย เออ มันสวยดีแฮะ ทำไมเราไม่ซื้อด้วยเนี่ย)

ดูสีหน้าเมาะณี ตอนโดนกองทัพพ่อค้าแม่ค้ารุมนะครับ ดูทีไรก็ขำ จะร้องไห้อยู่แล้ว โดนแอบถ่ายอิๆๆๆๆ

หลังจากนั้นก็เดินทางกลับโรงแรมครับ มีน้ำท่วมบนถนนหลายจุดมากเพราะฝนตก แต่รถไม่ติดครับ ถึงโรงแรมก็ให้ทิปพี่แกไป สามหมื่นรูเปียห์ กับอีก 3 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา สงสารแกน่ะครับอยู่กับพวกเราทั้งวัน แกก็คงได้แต่เงินเดือนมั้ง เลยให้ทิปแกไป พี่เสื้อเขียวเนี่ยแหละ นิสัยดีคุยดีอัธยาศัยดีมากๆครับ

เข้าห้องพักผ่อนนิดหน่อยแล้วก็ออกไปเดินตลาดบนถนน Jl.Malioboro ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมครับ มีแต่เสื้อผ้าขาย ไม่ลดครับ ขายตัวละ 25,000 Rp เท่ากันทุกร้าน ซื้อทีทับกระดาษรูปวัดพรัมบานันกับบุโรพุทโธไปฝากคนที่ออฟฟิซกัน เสียดายไม่ซื้อที่บุโรพุทโธต่อได้ด้วย ที่นี่เขาไม่ลดเลยจริงๆ แล้วก็กินข้าว ตามสั่ง ข้าวไก้ทอดอีกแล้ว แต่อร่อยครับ ด้วยน้ำพริกสูตรชวาจานละ 10,000 Rp ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น