วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 4 เดินทางโดยรถไฟจากเมือง Surabaya ไปเมือง Yogyakarta เที่ยววัด Prambanan ชม Ramayana Ballet

ทานอาหารเช้าที่โรงแรมโรงแรม Kenongo อยู่ที่ถนน Jalan Embong Kenongo ตั้งแต่ 6:30 น. ขอเขากินก่อนเวลาเพราะต้องเดินทางแต่เช้า (ปกติอาหารเช้าของโรงแรมจะเริ่มตอน 7:00 น.ครับ) มีขนมปังแยมให้คนละชิ้น ซื้อไข่ดาวเพิ่มคนละฟองจ่ายคนละ 5,500 Rp (ไข่ดาวอะไรไม่รู้โคตะระแพงเลย ฟองละ 22 บาท) แพงแต่ก็ยังกินครับ เพราะตอนเช้าๆ ไม่รู้จะไปกินที่ไหนเหมือนกัน กินรองท้องไว้ก่อนเดินทางครับ


เสร็จแล้วก็เช็คเอาท์ แล้วก็เดินออกไปสถานีรถไฟครับ ก่อนถึงสถานีรถไฟก็จะเจอเจ้าเรือดำน้ำที่เรามาเที่ยวเมื่อคืนนี่แหละครับ (สีเขียวๆดำๆในภาพครับ)


เดินข้ามสะพานข้ามคลองที่น้ำไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ แต่ไม่ดำเท่าคลองแสนแสบครับ


เดินตามถนนมาอีก 100 เมตรก็จะถึงสถานีรถไฟกูเบิง (Gubeng) ครับ


ก่อนเข้าสถานีรถไฟก็ต้องจ่ายค่าเข้าสถานีก่อนครับ 2,500 Rp


เข้ามาภายในสถานีแล้วครับ


เดินไปรออีกฟากหนึ่งของสถานีครับ


สอบถามเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟโดยการโชว์ตั๋วรถไฟที่ซื้อตั้งแต่เมื่อวานตอนกลับมาจากโพรโบลิงโก เขาบอกว่ารถจะออกจากชานชลาที่ 6 ครับ


ตั๋วรถไฟที่ซื้อหน้าตาจะเป็นแบบนี้ครับ รวมกันเลย 4 คน 560,000 Rp คนละ 140,000 Rp ครับ ชื่อขบวน ARGO WILIS หมายเลขขบวนนี้คือหมายเลข 5 ระบุเลขที่นั่งเรียบร้อยครับ ออกจากสถานีต้นทาง Gubeng เมื่องสุราบายาตอน 7:30 น. ถึง Yogyakarta ตอน 12:17 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครับ

อันนี้เป็นตารางเวลารถไฟ ได้มาจากนายสถานีโพรโบลิงโกเขาให้มาเมื่อวาน แผ่นใหญ่มาก สแกนแล้วข้อมูลขาดหายไปนิดหน่อย ต้องขออภัยครับ ไม่รู้จะทำอย่างไร ใหญ่เกิน Size A4 จริงๆ เครื่องสแกนได้แค่ขนาด A4 ครับ โดยปกติแล้ว เราสามารถเดินทางจาก Surabaya ไป Yogyakarta ได้ด้วยรถไฟ 3 ขบวนดังต่อไปนี้นะครับ ขบวนที่ 83 ชื่อ Sancaka Pagi ออกจาก สุราบายา ตอน 7:00 น. ตอนแรกเราจะไปเที่ยวนี้แต่เต็มซะก่อน, ขบวนที่ 5 ชื่อ Argo Wilis ที่เราเดินทางด้วย ออกจากสถานีสุราบายาตอน 7:30 น. และ ขบวนที่ 85 ชื่อ Sancaka Sore ออกจากสุราบายา ตอน 15:00 น. ทุกขบวนใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครับ แต่เดินทางเที่ยวเช้าน่าจะสะดวกกว่าตอนเย็นนะครับในกรณีที่ต้องไปเดินหาโรงแรมที่ ย็อกยาการ์ตา แต่พวกเราจองเอาไว้แล้วทางอินเตอร์เน็ทคือโรงแรม Istana Batik Ratna Hotel Yogyakarta โรงแรมดีมากในราคาถูกที่สุดที่จองได้กับอโกด้า

เราสามารถดูตารางรถไฟได้ที่เว็บตารางเวลารถไฟอินโดนีเซียนะครับ เขาอาจมีการเปลี่ยนเวลาด้วยในแต่ละปี เลยต้องตรวจเช็คเวลารถก่อนนะครับ  ในทางกลับกัน ถ้าเราเดินทางจากย็อกยาการ์ตา ไปเมืองสุราบายาก็มีรถหลายเที่ยวครับ ขบวนรถไฟที่ผมดูๆมาจากเว็ป http://www.kereta-api.co.id/

ขบวน Mutiara Selatan (132) ออกจากย็อกยาการ์ตา 00:48 a.m. ถึง สุราบายา 05:31 a.m. 
ขบวน Bima (44) ออกจากย็อกยาการ์ตา 01:05 a.m. ถึง สุราบายา 05:48 a.m.
ขบวน Turangga (50) ออกจากย็อกยาการ์ตา 03:32 a.m. ถึง สุราบายา 08:12 a.m. 
ขบวน Sancaka Pagi (84) ออกจากย็อกยาการ์ตา 06:45 a.m. ถึง สุราบายา 11:40 a.m. 
ขบวน Argo Wilis (6) ออกจากย็อกยาการ์ตา 16:02 p.m. ถึง สุราบายา 20:19 p.m.
ขบวน Sancaka Sore (86) ออกจากย็อกยาการ์ตา 16:30 p.m. ถึงสุราบายา 21:51 p.m. 


ระหว่างที่รถไฟยังไม่เข้ามาจอดในชานชลาที่ 6 เจ้าหน้าที่รถไฟชี้ให้พวกเรามานั่งรอข้างใน Executive Lounge ครับ เพราะตั๋วของรถขบวนเราเป็น Eksekutif ครับ ห้องแอร์เย็นสบายไม่วุ่นวายกับชาวบ้าน


ภายในห้อง Executive Lounge จะมีที่นั่งให้รอรถไฟ ไม่ไปวุ่ยวายปะปนกับคนอื่น มีชากาแฟขายด้วยครับ นั่งไปสักพัก ประมาณ 7:15 น.เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟประกาศให้ผู้โดยสารขึ้นไปรอบนขบวนรถไท่เข้ามาจอดในชานชลาที่ 6 ครับ สถานี Gubeng ที่สุราบายาเป็นต้นสายของขบวนนี้ และปลายทางคือเมืองบันดุงครับ ใช้เวลาทั้งหมด 12 ชั่วโมงถึงเมืองบันดุง แต่เราไปแค่เมืองย็อกยาการ์ตาครับ ลงที่สถานี Tugu ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 5 ชั่วโมงครับ


ขึ้นมาบนรถไฟแล้วก็หาหมายเลขที่นั่งของเราที่ระบุในตั๋วครับ ที่นั่งสะดวกสบายมากครับ มีที่วางเท้า มีชั้นวางของ มีแค็ตตาล็อกให้ซื้อของด้วยเหมือนแอร์เอเชียเลยครับ


เวลา 7:30 น. รถไฟก็เคลื่อนตัวออกจากสถานีตรงเวลาเป๊ะ ไม่ขาดไม่เกิน (ไม่เหมือนรถไฟบางประเทศเนอะ ดีเลย์ประจำ คาดหวังเวลาถึงไม่ได้เลย อิๆๆๆ) ออกจากเมืองสุราบายา ตลอดเส้นทางก็จะเป็นทุ่งนา สลับบ้านเรือนผู้คนครับ


ลักษณะการทำนาก็เหมือนๆกับบ้านเราเลยครับ เกี่ยวเสร็จแล้วก็นวดข้าวมันตรงนั้นในนา แต่ที่เห็นในภาพเขาใช้เครื่องนวดข้าว ให้เป็นข้าวเปลือกครับผม



ไม่นานเท่าไหร่ พรักงานก็เอาข้าวมาขายผู้โดยสารบนรถนะครับ ขบวนนี้เป็นขบวนพิเศษ เวลาจอดที่สถานีแต่ละแห่ง ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาขายของในขบวนเลยครับ มีแต่ยืนเรียกอยู่ตรงข้อต่อของแต่ละโบกี้เท่านั้นครับ ภาพนี้เป็นเมนูและราคาอาหาร เครื่องดื่มบนรถขบวนนี้นะครับ Argo Wilis


ข้าวผัดอีกแล้วครับ ข้าวผัดรถไฟ Nasi Goreng อร่อยนะครับ 16,000 Rp น้ำชาอีก 3,000 Rp เป็นชาหวานครับใส่นม

ไม่ว่าเขาเอาอะไรมาขาย บังเละลองหมดครับ ซื้อทุกอย่าง กินทุกอย่าง เราก็ได้โอกาสขอชิมด้วยครับ Bakso 10,000 Rp ครับ แต่ชิมดูแล้วก๋วยเตี๋ยวบ้านเราอร่อยกว่า ถ้าจะกินก็กินข้าวผัดอร่อยกว่าครับ

สักพักก็มาขายน้ำผลไม้ครับ บังเละก็ซื้ออีกครับ ทีนี้เป็นน้ำฝรั่ง (สีชมพู)แล้วก็น้ำมะม่วงครับ (สีเหลือง) แต่ไม่อร่อยเลยครับ อย่างละ 7,000 Rp


นั่งรถไฟขบวนนี้มา 5 ชั่วโมงเต็มๆ หลับบ้างตื่นบ้าง ในที่สุดเราก็มาถึงเมืองย็อกยาการ์ตาครับ สถานี Tugu ภาพนี้เป็นรถไฟขบวนที่เรานั่งมาครับ จอดส่งผู้โดยสารสถานี ย็อกยาการ์ตาแล้วก็มุ่งหน้าสู่เมืองถัดไป ปลายทางของรถไฟขบวนนี้คือเมืองบันดุง

ที่สถานีย็อกยาการ์ตา มีสละอินโดวางขายอยู่ด้วยครับ ขายใส่ให้ในชะลอมแบบในรูปเลยครับ แต่พวกเราไม่ได้ซื้อ ตอนแรกกะจะมาซื้อเป็นของฝาก แต่มัวยุ่งอยู่กับการไปทริปโน้นทริปนี้สุดท้ายก็ลืมซื้อครับ สละอินโด หวาน กรอบ อร่อย จริงๆเลยครับ ถ้าใครผ่านมาเจอแบบนี้ซท้อเลยครับ เดี๋ยวลืมซือจะเสียดายทีหลังเหมือนพวกเรา

เดินออกมาข้างนอก เห็นป้ายสถานีรถไฟ TUGU แบบนี้นะครับ


ออกจากสถานี เลี้ยวซ้ายเดินมาตามถนนอีก 100 เมตรก้จะถึงโรงแรมที่จองไว้ครับ Istana Batik Ratna Hotel Yogyakarta ตอนแรกมองไม่เห็น เดินเกือบจะถึงอยู่แล้ว

ด้านหน้าโรงแรมครับ

ป้ายชื่อโรงแรมด้านหน้าครับ Istana Batik Ratna

เตียงในห้องดูสะอาดดี ตกแต่งด้วยผ้าลายปาเต๊ะ ทั้งเตียงและตู้เก็บเสื้อผ้าเลยครับ

ทางเดินข้างหน้าแต่ละห้องจะมีม้านั่งอย่างนี้ทุกห้องครับ โรงแรมมีแค่ชั้นเดียวครับ


มีสระว่ายน้ำด้วยครับ ใครจะมาพักที่นี่เตรียมกางเกง หรือชุดว่ายน้ำมาด้วยนะครับ เผื่ออยากเล่นน้ำในสระตอนร้อนๆ


เช็คอินเสร็จก็เก็บข้าวของ แล้วก็ออกมาถามข้อมูลที่รีเซ็ปชั่นเกี่ยวกับการแสดง Ramayana Performances ที่ Purawisata ด้านล่างๆของโรงแรมแถววังสุลต่าน แต่ก็มาเจอโบรชัวร์พาเที่ยววัดพรัมบานัน กับชม Ramayana Ballet ซะก่อนเลยติดต่อให้โรงแรมจองให้ ครับ


จ่ายค่าทัวร์นี้ไป 330,000 Rp ต่อคนครับ ค่อนข้างเยอะ แต่เพื่อความสะดวกรวดเร็วครับไปกับทัวร์ดีกว่าประหยัดเวลาดีครับ ราคานี้รวมค่า Transfer ไปกลับโรงแรม และวัดพรัมบานัน และชมรามายะณะบัลเล่ต์ คนละ 60,000 Rp ค่าเข้าชมวัดพรัมบานัน 120,000 Rp (อันนี้ใครมีบัตรนักศักษา เอาไปโชว์ด้วยครับ ได้ลดค่าเข้าตั้งครึ่งหนึ่ง บังเละไปจ่ายค่าเข้าที่หน้าวัดในส่วนนนี้ แต่คนอื่นจ่ายไปเต็มๆเรียบร้อยแล้วกับทัวร์, ค่าชมรามายะณะบัลเล่ต์ เลือกที่นั่งแบบไม่ถูกไม่แพง ตรงมุมๆ เรียกว่า Class 1 คนละ 150,000 Rp ครับผม (ถ้านั่งด้านข้างราคาจะถูกลงมาก แต่จะเห็นนักแสดง เฉพาะด้านข้างครับ) แต่มารวมราคาดูแล้วก็ไม่แพง เพราะเท่ากับว่าเราจ่ายแค่ค่า Transfer ไปกลับครับ ส่วนค่าอย่างอื่นยังไงก็ต้องจ่ายอยู่ดีถึงม่จะไปเอง เพราะฉะนั้นไปกับทัวร์ดีกว่าครับ สะดวกกว่าเยอะ หมายเหตุ Ramayana Ballaet ไม่ได้แสดงทุกวันครับ มีประมาณ 3 ครั้งต่าสัปดาห์ ให้โรงแรมเช็คให้นะครับ ถ้าจะไปดู


รถมารับพวกเราตอนบ่าย 2 ตรงเวลาเป๊ะ ตอนจองก็บ่ายโมง 45 ไปแล้ว คนขับ (เป็นไกด์ไปด้วยในตัว) บอกว่าออฟฟิซเขาอยู่ใกล้กับโรงแรมของเราครับ (ปกติทริปนี้จะเริ่มรับจากโรงแรมตอนบ่าย 2 ครับ) พอมารับเราไกด์ก็เอาตั๋วเข้าวัดพรัมบานันมาให้ รวมทั้งตั๋วชมรามายะณะบัลเลต์ด้วยครับ ตั๋วเข้าชมวัดพรัมบานันเป็นแบบนี้ครับ

คนขับพาเราออกมานอกเมื่องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงวัดพรัมบานันครับผม โชว์ตั๋วตรงทางเข้า บังเละจ่ายค่าเข้าเป็นดอลล่าร์รู้สึกจะ 8 ดอลลาร์ ประหยัดจริงๆนะ ถ้ามีบัตรนักศักษาเนี่ย ภาพข้างบนนี้เป็นทางเข้าด้านหน้าของวัดพรัมบานันครับ จันดีพรัมบานัน (Candi Prambanan)


เดินเข้าไปข้างในวัด จะเห็นหมู่ปรางค์อยู่หลายองค์ รวมทั้งซากปรักหักพังที่อยู่รายรอบ และที่บูรณะซ่อมแซมยังไม่เสร็จครับ วัดพรัมบานันมีลักษณะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ครับ เป็นหมู่ศาสนสถานฮินดู ที่ประกอบไปด้วยวิหารน้อยใหญ่มากถึง 244 แห่ง


พรัมบานัน เป็นศาสนสถานฮินดูที่ยิ่งใหญ่และงดงามไปด้วยลายสลักหินอันวิจิตร สร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 8-10 โดยพระเจ้าราไก พิคาตัน และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระเจ้าราไก บาลิตุง ในราชวงศ์สัญชัย จุดประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ศาสนาฮินดูสามารถครองความเป็นใหญ่ในเกาะชวาได้ ซึ่งในศตวรรษที่ 9 เกาะชวาถูกปกครองโดย 2 ราชวงศ์ใหญ่คือ ราชวงศ์ไศเลนทรา ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และราชวงศ์สัญชัยที่เลื่อมใสในฮินดู แต่ทั้งสองราชวงศ์ก็เชื่อมสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกัน โยการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิง ปราโมทะวาร์หะนี แห่งราชวงศ์ไศเลนทรากับเจ้าชายราไก พิคาตัน ผู้ดำริให้สร้างวัดพรัมบานัน ต่อมาราวๆกลางศตวรรษที่ 16 ศาสนาฮินดูเริ่มเสื่อมไปพร้อมกับราชวงศ์สัญชัย ที่เคลื่อมที่ไปหาที่อยู่ใหม่เพราะเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง จากแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด สร้างความเสียหายแก่พืชผล ชีวิตผู้คน และสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งพรัมบานันและบุโรพุทโธด้วย โดยเฉพาะวัดพรัมบานัน ได้รับความเสียหายย่อยยับเป็นกองอิฐหิน ก่อนที่ชาวดัตช์เข้ามาบูรณะซ่อมแซมเมื่อราวศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตาม การบูรณะอย่างจริงจังเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ พศ.2540 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์


อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 4 โซนใหญ่ๆ คือ กลุ่มวัดพรัมบานัน กลุ่มวัดทางทิศเหนือ กลุ่มวัดทางทิศใต้ และ กลุ่มวัดทางทิศตะวันตกครับ โดยที่กลุ่มวัดพรัมบานัน จะเป็นหัวใจหลักของโบราณสถานทั้งหมด มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดศิวะมหาเทวา (Candi Shiva Mahadeva) สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะที่สถิตอยู่ในวิหารองค์กลาง คือวิหารศิวะ (Candi Shiva) มีลักษณะเป็นปรางค์สูง 47 เมตร ขนาบด้วยวิหารลูก 2 แห่งคือวิหารพระพรหม (Candi Brahma) ทางทิศเหนือ และวิหารพระวิษณุ (Candi Vishnu) ทางทิศใต้


ภายในวิหารศิวะครับ ที่ต้องเดินขึ้นบันไดมา จะเป็นหินแกะสลักองค์พระศิวะครับผม

ในส่วนมุมของปรางค์ใหญ่ มีหินสลักรูปหัวนาค ใช้เป็นท่อระบายน้ำตอนฝนตกครับผม


วิหารพระศิวะครับผม ถ่ายจากด้านหลัง เป็นองค์เดียวที่อนุญาตให้ไปถ่ายรูปข้างในได้ องค์อื่นยังกั้นเอาไว้ไม่ให้เข้าไปเพราะยังบูรณะไม่เสร็จครับ

ด้านหลังของปรางค์องค์ใหญ่ จะมองเห็นซากปรักหักพังของหมูปรางค์อันเล็กๆ อยู่รายรอบครับ และที่เห็นขาวๆอยู่เบื้องหลังไปอีกในภาพนี้ก็คือเวทีกลางแจ้งที่พวกเราจะไปดู Ramayana Ballaet กันตอนกลางคืนครับ

เดินชมจนพอใจแล้วก็เห็นป้ายทางออกก็เดินออกมาเรื่อยๆ ก็จะเจอซากเป็นกองๆ ของหมู่ปรางค์ต่างๆครับ นี่ถ้าไม่พังไปแสดงว่าต้องกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลแน่ครับ

พวกเรายังติดใจในความงดงามของสถานที่ มองย้อนหลังกลับไป สวยดี เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระทึกอีกหลายภาพเลยครับ

เดินอออกมาไกลแล้ว มองย้อนกลับไปอีก สวยๆๆๆๆ ถ่ายอีกๆๆๆ มองๆไปก็คล้านพระปรางค์บ้านเราอ่ะนะครับผมว่า

มีรถเทียมแพะไว้คอยบริการด้วยครับ เห็นมีแต่ผู้ใหญ่พาเด็กๆไปใช้บริการ แต่แพะมันไม่ยอมเดิน ดื้อจริงๆ เจ้าของต้องพยายามฉุดดึงกันยกใหญ่กว่ามันจะยอมเดิน


ก่อนประตูทางออกก็เจอพิพิธภัณฑ์ ไม่แน่ใจว่าฟรีหรือเปล่า ไม่ได้ถาม พอดี หิวข้าวสุดๆ ต้องออกไปหาอะไรกินก่อนครับ

เดินออกมาอีกนิด เห็นคอกเลี้ยงกวาง มีกวางเยอะมากๆครับ

ทางออกมันบังคับให้เราต้องเดินผ่านร้านขายของตลอดแนวทางเดินเลยครับ

ได้แต่ดูไม่ได้ซื้ออะไรที่นี่เลยครับ ของที่ซื้อก็ต้องต่อราคากันเยอะๆ ไม่ไหวๆ หิวมากๆ ต้องรีบไปหาอะไรกิน


กระเป๋าสตางค์ใบเล็กๆ เมาะณีซื้อไปหลายใบ ราคาถูกแต่ต้องดูข้างในด้วยครับ มาเปิดดูตอนหลังข้างในเย็บไม่เรียบร้อยเลยบางอัน จะเอาไปคืนก็ไม่ได้ กลับโรงแรมไปเรียบร้อยแล้ว เสียดายไม่ได้ซื้อที่ทับกระดาษรูปวัดพรัมบานันซักกะอัน


ออกมานอกเขตวัด เจอร้านนี้เข้า ไปสั่งข้าวกินครับ ที่จริงก็เป็นโรงแรมเล็กๆชื่อ Hotel Wisnu ครับผม

นาซีโกเร็งอะยัม อีกแล้วครับ ก็มื้อก็ไม่เบื่อ ชอบๆๆ มื้อนี้มีไข่ด้วย จานละ 10,000 Rp ครับ


กินข้าวเสร็จเดินออกไปหาพี่คนขับรถ แกมายืนดักรอพวกเราอยู่แล้วครับ แล้วก็พาไปที่เวทีกลางแจ้งแสดง Ramayana Ballet ครับภาพนี้เป็นวัดพรัมบานันตอนกลางคืนครับ เขาจะเปิดไฟสวยงามมากครับ แต่กล้องที่พวกเรามีไม่ได้ฉลาดมากครับ เลยได้คุณภาพแค่นี้ ขาตั้งกล้องก็ไม่ได้เอาไป ต้องอาศัยม้านั่งแถวๆนั้นเป็นที่วางกล้องครับ มิฉะนั้นภาพเบลอสุดๆครับ


ที่จริงคนขับรถจะพาเรามากินอาหารเย็นที่นี่ คงจะแพง และเขาคงได้ค่าคอมมิชชั่น แต่พวกเรารู้ทันครับกินก่อนถูกๆ ขอโทษด้วยจริงๆ อยากประหยัดตังค์อ่ะครับ ค่อยให้ทิปตอนกลับละกัน


ตั๋วรามายะณะบัลเลต์ที่พี่เขาเอามาให้หน้าตาเป็นแบบนี้แหละครับ ราคาแตกต่างกันไปตามบริเวณที่นั่ง เราเลือกราคากลางๆ ตรงมุม Class 1 ราคา 150,000 Rp ครับ ถ้านั่งตรงกลาง VIP ต้องจ่ายอีกแสนหนึ่ง เสียดายตังค์อ่ะครับ ข้างๆแบบที่เราเลือนี้ก็โอเคแล้วครับ


ระวังให้ดี ใครมีกล้องถ้าอยากประหยัดตังค์อย่าโชว์กล้องทุกตัวให้เขาเห็น มิฉะนั้นจะโดนตัวละ 5,000 Rp ครับ เก็บตังค์ทุกอย่างจริงๆ กล้องบังเละแบตหมดก็ยังต้องจ่าย อยากจะบ้าตาย เอากล้องใส่กระเป๋าเป้ไปก็ได้ครับ แต่กลุ่มหนึ่งจ่ายสักตัวหนึ่งก็ได้ ไม่จ่ายเลยก็น่าเกลียด

เวลาเริ่มแสดงคือทุ่มครึ่ง เราเข้าไปก่อนเวลา มีเจ้าหน้าทีแต่งชุดประจำท้องถิ่นออกมาต้อนรับครับ

ลุงๆป้าๆ นักดนตรีที่มาแสดงครับ ก่อนถึงเวทีมีซุ้มให้เข้าไปถ่ายรูปกับลุงๆป้าเป็นที่ระทึกด้วยครับ

ขอโชว์อีกรูปละกันอิๆๆๆ

ทุ่มครึ่งตรงเป๊ะ การแสดงก็เริ่มครับ นักแสดงเริ่มทะยอยออกมา แสดงเป็นฉากๆ ช่วงแรกๆจับใจความไม่ค่อยได้อ่ะครับ ใครจะไปดูให้อ่านรามเกียรติ์ไปสักรอบก่อนนะครับ จะได้ไม่งงมานั่งนึกถึงวรรณกรรมไทยรามเกียรติ์ที่เรียนมาสมัยประถมมัธยมเหอๆๆ


อันนี้มารีศ ทหารของทศกัณฑ์ โดนทศกัณฑ์บังคับให้แปลงร่างเป็นกวางทองไปล่อพระราม นางสีดาเห็นกวางทองสวยงามก็อยากได้จึงให้พระรามไปตามจับกวางทองมาเลี้ยงไว้ ทศกัณฑ์ก็เลยลักนางสีดาไปกรุงลงกาครับ

ฉากที่หนุมานไปเผากรุงลงกา เขาจุดไฟเผาจริงๆครับ ร้อนหน้าเลยขนาดนั่งไกลตั้งเยอะ ไฟกองใหญ่มาก ฉากนนี้รอลุ้นว่าหลังจากหนุมานเผากรุงลงกาแล้วจะมีไฟติดหาง แล้วดับไม่ได้ ต้องไปหาพระฤาษี พระฤาษีบอกให้ใช้น้ำบ่อน้อย(น้ำลาย)ดับ เหมือนตอนเรียนภาษาไทยตอนป. 4 แต่ไม่ยักกะมีอ่ะครับ 555+++ เสร็จฉากนี้ก็เขาจะให้พัก 15 นาทีแล้วมาแสดงต่อ ก็มีฉากนางสีดาลุยไฟ (แต่ไม่ได้ลุยจริงๆนะ เขาทำฉากไฟขึ้นมาเฉยๆ) เพื่อพิสูจนความบริสุทธิ์ของตัวเอง แล้วก็กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งครับ


ฉากสุดท้ายเฉลิมฉลอง พระราม นางสีดา มีผู้แสดงร่ายรำเยอะมาก สวยดีครับ (ดูลิงค์ใน Youtube ด้านข้างๆนะครับว่า Ramayana Ballet เป็นอย่างไร) ดูจบแล้วเราก็เดินไปหาพี่ไกด์อีกที เขาพากลับโรงแรม ให้ทิปพี่เขาไปสองหมื่น (รูเปียห์จ๊ะ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น